
Koe no katachi/รักไร้เสียง/A silent voiceส่วนตัวแล้วไม่เคยดูหนังแล้วมานั่งเขียนอะไรทำนองนี้มาก่อน และก็ไม่คาดคิดว่าตัวเองจะมานั่งเขียนรีวิวหนังอะไรแบบนี้ แต่ก็ไม่เชิงเป็นรีวิวให้คะแนนหรือเล่าเรื่องรายละเอียดอะไรจริงจังนะ
ถือว่าดูแล้วก็มาชวนกันคุย หรือถ้ายังไม่ได้ดูก็ถือว่าชวนกันดูละกัน ;)
Koe no katachi หรือ รักไร้เสียง ก่อนจะมาดูเป็นอนิเมะ (animation) เรื่องนี้เคยอ่านแบบเป็นมังงะ (หนังสือการ์ตูน) มาก่อน ตอนที่อ่านตอนแรกๆ คือนั่งถามตัวเองว่ากำลังอ่านอะไรอยู่เพราะการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ใช่แนวรักหวานจ๋าหรือแอคชั่นมันส์หยด แต่ผูกเรื่องโดยใช้เรื่องของการรังแกหรือ bullying เป็นแกนหลักของเรื่องซึ่งถือว่าเป็นเนื้อเรื่องแนวที่แปลกทีเดียวสำหรับเรา
เรื่องราวทั้งในมังงะและในอนิเมะถูกถ่ายทอดผ่าน อิชิดะ โชยะ พระเอกของเรื่อง ซึ่งเป็นข้อหนึ่งที่เราชอบ เพราะมันทำให้เราค่อยๆ เรียนรู้ความคิดความรู้สึกของตัวละครต่างๆ ผ่านมุมมองของอิชิดะและรวมถึงการเข้าใจในตัวของอิชิดะเอง มันมีความพิเศษตรงที่เราสามารถที่จะได้รู้สึกไปพร้อมๆ กันกับตัวละครได้มากขึ้น
นิชิมิยะ โชโกะ เธอเองก็เป็นตัวละครหลักอีกตัวของเรื่อง (นางเอกน่ันละ) โชโกะถูกรังแกเพราะเธอ "แตกต่าง" จากเด็กคนอื่นๆ เธอเป็นคน "หูหนวก" ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจตรงนี้ว่าทำไมต้อง "หูหนวก" อีกประเด็นที่อนิเมะเรื่องนี้เน้นก็คือ "เสียง" ถ้าเราสามารถได้ยินเสียงต่างๆ รอบตัวเสียงก็คือเสียง แต่ตัวนิชิมิยะเองเธอไม่สามารถได้ยินเสียงได้ สำหรับเธอเสียงคือสิ่งที่ต้องเลี่ยงไปสื่อสารผ่านอวัยวะที่ไม่สามารถเปล่งเสียงได้แทน นั่นคือ "มือ" ผ่านการเขียนลงบนกระดาษหรือภาษามือ ซึ่งมันทำให้เราต้องมานั่งคิดและตีความใหม่ว่าจริงๆ แล้ว "เสียง" ที่เรามองไม่เห็นมันมีรูปร่างหน้าตาเป็นยังไง เราจะสัมผัสเสียงในรูปแบบไหนถ้าไม่ได้สัมผัสผ่านทางหู ซึ่งอินิเมะก็ดึงมาเป็นคำว่า "The shape of voice" ให้ได้สะดุดตาเอาไว้
ถ้านิชิมิยะถูกรังแกแล้วใครล่ะเป็นคนใจร้ายที่รังแกเธอ? ลองเดาซิ ;)
อันที่จริงแล้วการกลั่นแกล้ง นิชิมิยะ โชโกะ ถือว่าเป็นความร่วมมือของคนทั้งชั้นเรียนรวมถึงอาจารย์ประจำชั้นเลยก็ว่าได้แต่หัวโจกจอมรังแกคือ อิชิดะ โชยะ พระเอกของเรานั่นเอง ความคิดแรกของเราคือนี่มันก็พล็อตเรื่องเดิมๆ นี่นา พวกปากไม่ตรงกับใจชอบแกล้งคนที่ตัวเองชอบเนี่ย แต่มันมีอีกเรื่องที่เราสัมผัสได้ผ่านมุมมองของอิชิดะว่าการกลั่นแกล้งแต่ละคร้ัง นอกจากจะเพื่อความสนุกแล้วมันยังแฝงความรู้สึกอย่่างอื่นเอาไว้อย่าง 'สู้สิ' 'ตอบโต้สิ' 'อย่ายอมสิ' 'พูดสิ' มันแสดงให้เห็นว่าตัวอิชิดะเองก็อยากจะรู้จักนิชิมิยะให้มากขึ้น แต่การพูดคุยผ่าน "มือ" สำหรับอิชิดะในตอนนั้นมันคงจะยุ่งยากเกินไป เขาจึงเลือกใช้วิธีที่จะบีบให้นิชิมิยะระเบิดความรู้สึกของเธอออกมาผ่านการกลั่นแกล้งต่างๆ แทน
ประเด็นหลักอื่นในเรื่องที่เด่นๆ เลยก็คือ "เพื่อน" และ "การฆ่าตัวตาย" จะขอพูดถึง "การฆ่าตัวตาย" ก่อน เรื่องนี้ถ้าถือว่ายกมาเป็นฉากแรกของอนิเมะเลยก็คงจะไม่ผิด เริ่มเรื่องก็มาที่การวางแผนฆ่าตัวตายของอิชิดะ ซึ่งถืิอว่าเป็นผลลัพธ์จากการกระทำของตัวเขาเองในอดีต ทำให้เกิดเป็นกรรมในรูปของความรู้สึกผิดที่ยังคงหลอกหลอนเขามาตลอด อิชิดะจึงคิดที่จะสะสางความรู้สึกผิดต่างๆ ก่อนที่จะฆ่าตัวตาย นั่นคือการคืนเงินค่าเสียหายที่คุณแม่ต้องจ่ายไปโดยการทำงานพิเศษและขายของใช้ส่วนตัวทุกอย่าง และแน่นอนความรู้สึกผิดที่สุดของเขา นิชิมิยะ โชโกะ เขาไปพบเธอโดยหวังที่จะไปจัดการสะสางความรู้สึกผิดที่มี่ต่อเธอ แต่ดันลงท้ายที่เขาขอเธอเป็นเพื่อนซึ่งนั่นเองได้ดึงอิชิดะออกมาจากวังวนความคิดที่จะฆ่าตัวตายออกมาสู่วังวนความคิดใหม่ว่า "เพื่อน" สำหรับเขาแล้วคืออะไรกันแน่ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เรื่องนี้ตั้งคำถามขึ้นมาถึงนิยามความหมายของคำว่า "เพื่อน" ให้เราได้ไปนั่งคิดกันหรือบางทีอาจไม่ต้องคิดก็ได้ เพราะในอนิเมะเองก็มีคำตอบให้อยู่แล้วว่า "เพื่อน" คือสิ่งที่อยู่เหนือกว่าคำนิยามและกฏเกณฑ์ใดๆ ไม่จำเป็นต้องใช้สิ่งใดๆ มาจำกัดความหมายของมันเลย
ขอต่อในประเด็น "การฆ่าตัวตาย" อีกเล็กน้อยเนื่องจากมีความพยายามที่จะฆ่าตัวตายในอนิเมะเรื่องนี้ถึง 2 ครั้ง ในครั้งหลังนี้ไม่ใช่อิชิดะแต่เป็นนิชิมิยะแทน นิชิมิยะ โชโกะ เด็กสาวที่พูดคำว่าขอโทษจนติดปาก เธอโทษตัวเองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเธอเป็นต้นเหตุ เป็นเพราะเธอคนรอบตัวจึงต้องลำบาก การโทษตัวเองของเธอนำไปสู่การเกลียดตัวเองที่หยั่งลึกลงไป นิชิมิยะอยากจะหายไปเพื่อที่ไม่ต้องสร้างปัญหาให้ใครอีก โดยเฉพาะอิชิดะ นั่นจึงทำให้เธอกระโดด แต่คนที่ตกลงไปกลับไม่ใช่เธอ อนิเมะเรื่องนี้ปักประเด็นที่ "การฆ่าตัวตาย" ก็จริง แต่เน้นไปพร้อมๆ กับ "การมีชีวิตอยู่" ด้วย การตายไม่ได้แก้ปัญหาอะไร มันไม่คุ้มกันที่จะตายด้วยเรื่องเพียงแค่นี้ แต่เราจะแก้ปัญหาได้มากมายหากเรายังคงพยายามที่จะมีชีวิตอยู่
เนื้อเรื่องในอนิเมะเดินไปช้าๆ มีการเปลี่ยนแปลงจากเนื้อเรื่องในมังงะอยู่บ้างและมีการตัดรายละเอียดต่างๆ ออกไปหลายจุด ซึ่งคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะตัวมังงะเองมีความยาวถึงประมาณ 60 ตอน ถือว่ายาวพอตัวเลยทีเดียว แต่การปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องไม่ได้ทำให้อนิเมะด้อยลงไปกว่ามังงะเลย ส่วนตัวแล้วรู้สึกชอบด้วยซ้ำเพราะทำให้รู้สึกว่าเนื้อเรื่องมีความสมจริงมากขึ้น real ยิ่งขึ้น
ที่ประทับใจมากคือกราฟฟิกที่ทำออกมาได้ดี มีการผสมผสานระหว่างภาพ 2 มิติและ 3 มิติได้อย่างลงตัว มุมกล้องทำออกมาได้ดีมาก การวางองค์ประกอบของภาพมีความแปลกใหม่ทำให้เราได้จุดโฟกัสภาพที่ต่างออกไปและดึงอารมณ์ร่วมได้มากขึ้น ในส่วนดนตรีประกอบเองก็ไพเราะและเข้ากับฉากในแต่ละฉากได้ดี มีช่วงเงียบในบางฉากซึ่งก็ทำให้สัมผัสได้ถึงโลกของนิชิมิยะได้มากขึ้น แต่ก็นั่นอีกละ โลกของนิชิมิยะเข้าใจยากจริงๆ สำหรับคนทั่วไปที่ได้ยิน "เสียง" อยู่แล้วแบบเรา เราอยากเข้าใจ "เสียง" ของเธอมากขึ้น ถ้ามีคำบรรยายเวลาที่เธอพูดก็จะช่วยได้มาก บางฉากเธอพูดนะ นิชิมิยะพูดได้แต่ไม่ชัดจึงค่อนข้างจะฟังยาก ถ้าไม่อ่านมังงะมาก่อนก็คงจะจับความได้ยากทีเดียว แต่แม้ไม่มีคำบรรยายก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินเรื่อง ก็ยังดูอนิเมะเรื่องนี้ได้รู้เรื่องอยู่ดีนั่นละ และโดยส่วนตัวชอบเสียงพากย์แบบ soundtrack มากกว่า เพราะเสียงพากย์ภาษาญี่ปุ่นต้นฉบับถือว่าสามารถพากย์แสดงความรู้สึกของตัวละครผ่านเสียงออกมาได้จับใจทีเดียว
โดยรวมแล้ว Koe no katachi ถือว่าเป็นอนิเมะที่สวยงามคุ้มค่าที่จะดู มีการวางประเด็นให้ขบคิดในหลายแง่ ในอนาคตคิดว่าคงจะหยิบมาดูอีกแน่นอน แล้วก็คงมานั่งขบคิดในมุมมองใหม่ๆ ;) จริงๆ อนิเมะเรื่องนี้ไม่ได้เครียดอะไร ดูเพลินๆ ได้ดูเอาจริงเอาจังก็ดี ใครเคยอ่านมังงะแล้วมาดูอนิเมะก็ไม่เสียหาย ถือว่าทำออกมาได้ดี
สุดท้ายนี้ถ้าได้ดูแล้วก็มาแลกเปลี่ยนกันได้นะ ;)
ถ้ายังไม่ได้ดูก็ถือว่าชวนให้ดูก็แล้วกัน ;)
The shape of voice, a silent voice.
Written in this book
รู้สึก.ก็เขียน.